บทความเชิงลึก: ทำไมพระสันตะปาปาเลือกชื่อ "เลโอ ที่ 14"




ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ผมขอพักการอัพเดท Pope Report ชั่วคราว เพื่อไปดูคุณพ่อของผม ผมได้ติดตามข่าวพระสันตะปาปาอยู่บ้าง มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากเขียน เพราะค้นคว้าหาข้อมูลเตรียมไว้ และโชคดีที่วันนี้คืนวันศุกร์ ผมจึงขอแบ่งปันให้ทุกท่านติดตามละกัน (ขอบคุณทุกคำอวยพรให้คุณพ่อผมนะครับ ผลการผ่าตัดผ่านไปด้วยดีครับ) ...


หลายคนน่าจะเห็นข่าวนี้ผ่านตาไปแล้วว่า พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 14 อธิบายด้วยพระองค์เองไปแล้วว่า ทำไมถึงเลือกชื่อนี้


วันนี้ ผมจะขอลงรายละเอียดเชิงลึกที่ค้นคว้ามาหลายวัน ถ้าผู้อ่านเป็น “สายเนิร์ด” ชอบข้อมูลเชิงลึก น่าจะชอบนะครับ


➡️ ตอนแรก เกือบจะเลือกนาม “ออกัสติน” แทน “เลโอ”


หากใครจำกันได้ ผมเคยนำลำดับที่นั่งและลงคะแนนของบรรดาคาร์ดินัลมาในการเลือกตั้งพระสันตะปาปามาให้ดู “คาร์ดินัล โรเบิร์ต เพรโวสท์” (พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 14) นั่งอยู่ลำดับที่ 4 


คาร์ดินัล แฟร์นานโด ฟีโลนี ซึ่งนั่งอยู่ใกล้กัน (ลำดับที่ 2) เปิดเผยว่า หลังจากได้รับเลือกแล้ว คาร์ดินัล เพรโวสท์ คิดจะเลือกชื่อ “ออกัสติน” แต่เปลี่ยนใจ เพราะคิดว่า “เลโอ” น่าจะเหมาะสมกว่า 


พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 14 บอกกับคาร์ดินัลฟีโลนีว่า พระองค์ได้แรงบันดาลใจจากพระสันตะปาปา เลโอ ผู้ยิ่งใหญ่ (เลโอ ที่ 1) และพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 ซึ่งเป็นคนที่ใส่ใจเรื่องแรงงานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม


“พระสันตะปาปาบอกกับพ่อว่า นี่จะเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่สุดของสมณสมัยของพระองค์ นั่นคือการให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะหากไม่มีงาน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็จะสูญเสียไป” คาร์ดินัลฟีโลนี ให้สัมภาษณ์ไว้


➡️ คนที่ถามว่าทำไมเลือกชื่อ “เลโอ” คือคาร์ดินัลชาวชิลีที่เคยทำงาน “วิศวะโยธา” 


หลายคนยังติดใจเรื่อง “คาร์ดินัลที่เคยทำงานทางโลก ก่อนมาบวช” วันนี้ มีอีก 1 ท่านมานำเสนอ และกลายเป็นบุคคลสำคัญของบทความวันนี้ด้วย


คนนั้นคือ “คาร์ดินัลเฟร์นานโด โชมาลี่ กาหริบ” อาร์คบิช็อปแห่งซานติอาโก้ ประเทศชิลี


คาร์ดินัลท่านนี้ มีพื้นเพเป็นลูกหลานชาวปาเลสไตน์อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ชิลี ตัวของ “โชมาลี่” จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธาฯ ตอนอายุ 24 ปี จากนั้นทำงานเป็นวิศวกร 3 ปี ก่อนจะเข้าศึกษาในสามเณราลัยตอนอายุ 27 ปี และได้รับศีลบวชเป็นสงฆ์ตอนอายุ 34 ปี


คาร์ดินัลโชมาลี่ ให้สัมภาษณ์กับ อีเนส ซาน มาร์ติน นักข่าวสายวาติกันจากอาร์เจนติน่า โดยบอกว่า ระหว่างมื้ออาหารหลังการเลือกตั้งพระสันตะปาปาจบลง ตัวคาร์ดินัลโชมาลี่ ได้นั่งร่วมโต๊ะอาหารกับพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 14 ท่านจึงถามพระสันตะปาปาว่า “ทำไมถึงเลือกนามว่า เลโอ ที่ 14”


พระสันตะปาปา เลโอ ตอบว่า พระองค์กังวลมากๆเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เรากำลังเผชิญ มันเป็นเหมือนการปฏิวัติโคเปอร์นิคัส ทั้งเอไอ หุ่นยนต์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ พระองค์ได้รับแรงบันดาลใจจากพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 ซึ่งในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เขียนสมณสาส์น “เรรุม โนวารุม” (Rerum Novarum แปลว่า สิ่งใหม่) ที่เปิดบทสนทนาสำคัญระหว่างศาสนจักรกับโลกสมัยใหม่ พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 14 เชื่อว่า ศาสนจักรคาทอลิกจะต้องมีบทบาทสำคัญในช่วงเวลาแห่งความฉงนนี้ 


➡️ การปฏิวัติโคเปอร์นิคัสคืออะไร ส่งผลอะไรต่อศาสนจักรคาทอลิก


เมื่อพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 14 ที่จบปริญญาตรีคณิตศาสตร์ พูดเรื่องการปฏิวัติโคเปอร์นิคัส กับ คาร์ดินัลโชมาลี่ ที่เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ มันเหมือนกับคนที่มีพื้นฐานสาย STEM คุยกัน (STEM คือ Science, Technology, Engineering and Mathematics) หรือการโฟกัสการเรียนวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม และคณิตศาสตร์


ดังนั้น เราต้องย้อนไปดูว่า การปฏิวัติโคเปอร์นิคัสคืออะไร 


นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส เป็นนักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ เขาคือคนค้นพบว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่เป็นดวงอาทิตย์ที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล 


ช่วงแรก ศาสนจักรไม่ได้ต่อต้านแนวคิดนี้ เพราะมองว่าเป็น “สมมติฐานทางคณิตศาสตร์” แต่หลังจากที่ “กาลิเลโอ กาลิเลอิ” เผยแพร่แนวคิดนี้อย่างจริงจัง ศาสนจักรเริ่มมองว่ามันคือภัยคุกคามและประกาศว่าแนวคิดดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางเป็น “ความเชื่อที่ผิด” จากนั้นได้สั่งห้ามเผยแพร่หนังสือของโคเปอร์นิคัสจนกว่าจะได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ กาลิเลโอถูกพิจารณาคดีและถูกบังคับให้ถอนคำยืนยันว่าโลกเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ เขาถูกตัดสินให้อยู่ภายใต้การกักบริเวณในบ้านจนเสียชีวิต กรณีนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนาอย่างแท้จริง


ที่สุดแล้ว ค.ศ.1992 พระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 ต้องเป็นตัวแทนของศาสนจักรคาทอลิกกล่าวแสดงความเสียใจต่อ “กาลิเลโอ” โดยยอมรับว่าศาสนจักรคาทอลิกตีความพระคัมภีร์ผิดพลาดและปฏิบัติต่อกาลิเลโออย่างไม่เป็นธรรม การกระทำนี้แสดงถึงความพยายามของศาสนจักรคาทอลิกในการคืนดีกับวิทยาศาสตร์และยอมรับบทบาทของวิทยาศาสตร์ในการค้นหาความจริง


อย่างไรก็ดี ศาสนจักรคาทอลิกก็ปรับตัวเข้าหาวิทยาศาสตร์อีกครั้ง โดยมองว่า “ความเชื่อ” (Faith) และ “เหตุผล” (Reason) ไปด้วยกันได้ การปฏิวัติโคเปอร์นิคัสเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ศาสนจักรคาทอลิกปรับตัว โดยในศตวรรษที่ 20 และ 21 ศาสนจักรคาทอลิกเริ่มสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เช่น การก่อตั้งหอดูดาววาติกัน (Vatican Observatory) ซึ่งก่อตั้งในสมณสมัยของพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 


➡️ รู้จักที่มาที่ไปของ Rerum Novarum และสภาพสังคมเศรษฐกิจในยุคนั้น


สมสาสน์ “เรรุม โนวารุม” ออกเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1891 สมณสาส์นนี้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปโดยยึดหลักศักดิ์ศรีของมนุษย์ สิทธิของแรงงาน และความสมดุลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง


ค.ศ.1891 เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง (ค.ศ. 1870–1914) ซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น ไฟฟ้า เครื่องจักรกล และการผลิตเหล็กกล้า ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ


อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนี้มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชนชั้นแรงงานในยุโรปและอเมริกาเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย ค่าจ้างต่ำ และการขาดความคุ้มครองทางสังคม การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง โรงงานขนาดใหญ่ผุดขึ้นในเมืองอุตสาหกรรม เช่น ลอนดอน แมนเชสเตอร์ นิวยอร์ก และชิคาโก้ โดยแรงงานในโรงงานมักทำงาน 12–16 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่มีวันหยุดหรือสวัสดิการ


แนวคิดทุนนิยมที่เน้นกำไรสูงสุดทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงาน ในขณะที่แนวคิดสังคมนิยม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากคาร์ล มาร์กซ์ เสนอทางเลือกด้วยการยกเลิกการเป็นเจ้าของส่วนบุคคล สมณสาสน์ Rerum Novarum ปฏิเสธทั้งทุนนิยมที่ไร้การควบคุมและสังคมนิยมที่ปฏิเสธทรัพย์สินส่วนตัว โดยเสนอแนวทางที่สมดุลซึ่งเน้นความยุติธรรมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน


ค.ศ.1891 บริษัทดังๆหรือเจ้าของคนดังในยุคนั้น ได้แก่


- Standard Oil (น้ำมัน) ก่อตั้งโดยจอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ บริษัทนี้ผูกขาดเรื่องการกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ

- Carnegie Steel (ธุรกิจเหล็ก) ก่อตั้งโดยแอนดรูว์ คาร์เนกี้ นี่คือบริษัทผลิตเหล็กกล้าราว 60% ของโลก

- J.P. Morgan ธนาคารชื่อดังของอเมริกา

- Siemens & Halske บริษัทวิศวกรรมและไฟฟ้าของเยอรมนี


ส่วนบริษัทที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1891 ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เรารู้จักกันดี ได้แก่

- ร้านขายยาเต๊กเฮงหยู (โอสถสภา) ซึ่งก่อตั้งในปีที่สมณสาสน์นี้ออกมาพอดี

- Philips บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าจากเนเธอร์แลนด์ 

- Thyssen บริษัทจากเยอรมนี ถ้าในไทยเราจะเห็น “ลิฟท์” แบรนด์นี้เยอะมากๆ


นอกจากนี้ บริษัทชื่อดังที่ก่อตั้งในค.ศ.1890 หรือก่อนหน้าสมณสาสน์นี้ 1 ปี ก็คือ คูโบต้า, นินเทนโด้, อัลลิอันซ์ (ประกัน), เบียร์อาซาฮี 


เราจะเห็นได้ว่า ช่วงเวลาของ Rerum Novarum เป็นยุคจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมจริงๆ 


➡️ ความคล้ายของตอนนั้นกับตอนนี้


ยุค Rerum Novarum (ค.ศ.1891)

- อังกฤษคือมหาอำนาจเบอร์ 1, อเมริกาขึ้นมาท้าชิง

- ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 (ไฟฟ้า-เหล็กกล้า)

- แรงงานถูกกดขี่ในโรงงาน และแทนที่ด้วยเครื่องจักร


ยุคของโป๊ป เลโอ ที่ 14 (ค.ศ.2025)

- อเมริกาคือมหาอำนาจเบอร์ 1, จีนขึ้นมาท้าชิง

- ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (AI, หุ่นยนต์)

- แรงงานถูกแทนที่ด้วย AI และระบบอัตโนมัติ



➡️ “เลโอ ที่ 14” กับสถานการณ์ยุคปัจจุบัน


การที่พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 เลือกนามนี้ แสดงถึงความตั้งใจที่จะนำหลักการของ Rerum Novarum มาประยุกต์ใช้กับความท้าทายในยุคปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก AI ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และผลกระทบของโลกาภิวัตน์ พระองค์เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์และส่งเสริมความยุติธรรมในโลกที่เทคโนโลยีและเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


เมื่อผสานข้อมูลจากคาร์ดินัลแฟร์นานโด ฟีโลนี และ คาร์ดินัล เฟร์นานโด โชมาลี่ กาหริบ รวมถึงคำแถลงของพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 14 เราได้เห็นถึงความตั้งใจของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่จะนำศาสนจักรคาทอลิกป็นแสงสว่างแห่งความหวังท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันท้าทายอย่างแท้จริง



References:


1. https://www.ansa.it/vaticano/notizie/2025/05/14/card.-filoni-prevost-aveva-pensato-di-chiamarsi-agostino_419e01fe-0ce8-4910-bddd-a34e828439f2.html 


2. https://www.osvnews.com/chilean-cardinal-gives-insight-to-the-conclave-that-elected-pope-leo-xiv/ 


3. https://www.vaticanobservatory.org/sacred-space-astronomy/religious-scientists-canon-nicolaus-copernicus-1473-1543-heliocentricism/


4. https://www.ncregister.com/blog/the-myth-that-catholics-are-opposed-to-science-revolves-around-copernicus


5. https://www.britannica.com/topic/Copernican-Revolution


6. https://www.vatican.va/content/john-paul-ii/it/speeches/1992/october/documents/hf_jp-ii_spe_19921031_accademia-scienze.html 


7. https://www.nytimes.com/1992/10/31/world/after-350-years-vatican-says-galileo-was-right-it-moves.html


8. https://aleteia.org/2024/08/23/jpiis-recognition-of-church-errors-on-galileo-and-worlds-errors-on-church 


Comments