"คอนเคลฟ 2013" ครั้งนี้ ไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา


การเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ องค์ที่ 266 ของพระศาสนจักรคาทอลิกในครั้งนี้ มีเรื่องติดตามมากกว่าครั้งไหนๆที่ผ่านมา จากความรู้สึกของตัวผมเอง คิดว่า การเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งนี้น่าจะใช้เวลานานกว่าครั้งที่แล้วที่ พระคาร์ดินัล โยเซฟ รัตซิงเกอร์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ใหม่พร้อมเลือกพระนาม “เบเนดิกต์ ที่ 16” (ครั้งที่แล้ว ใช้เวลาแค่ 2 วันเท่านั้น)

จอห์น อัลเลน นักข่าวสายวาติกันชื่อดังระดับโลกจากค่าย “เนชั่นแนล คาทอลิก รีพอร์ตเตอร์” และยังเป็นนักวิเคราะห์วาติกันประจำสถานีโทรทัศน์ CNN ได้ยก 10 เหตุผลที่บอกว่า การเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งนี้ต่างจากครั้งที่แล้วอย่างไรบ้าง ว่าแล้วก็ไปติดตามกันเลย

1) ครั้งนี้ พระสันตะปาปาสละตำแหน่ง ไม่ใช่สิ้นพระชนม์

เมื่อได้ยินว่า “การเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่” เราคงเข้าใจว่า พระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้นต้องสิ้นพระชนม์ แต่กับคอนเคลฟ 2013 มันไม่ใช่แบบนั้น และยังเป็นครั้งแรกในรอบ 600 ปีที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แม้มันจะเป็นการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่เหมือนกัน แต่ความรู้สึกมันอาจแปลกๆยังไงชอบกล

ในรอบ 600 ปีที่ผ่านมา ก่อนการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะเริ่มขึ้น จะต้องมีการจัดมิสซาปลงศพให้กับพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้น และช่วงเทศน์ในมิสซาปลงศพนั้นเอง ถ้าพูดตามมุมมองชาวบ้านแบบเราๆที่ไม่ใช่พระสงฆ์ นี่คือ “ช่วงเวลาแห่งการแสดงความคิดและแบ่งปันของผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล” ให้กับคณะพระคาร์ดินัลและสัตบุรุษทั่วโลกได้เห็นว่า ท่านจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เหมาะสมหรือไม่

ย้อนกลับไปในมิสซาปลงศพสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เราคงจำกันได้ว่า ผู้เทศน์ในมิสซานั้นคือ “พระคาร์ดินัล โยเซฟ รัตซิงเกอร์” หัวหน้าคณะพระคาร์ดินัลในตอนนั้น ในมิสซาดังกล่าว ทุกคนประทับใจมากกับบุคลิกและบทเทศน์ของพระคาร์ดินัลรัตซิงเกอร์ จากที่ถูกยกให้เป็น “ตัวเก็ง” ในการสืบทอดตำแหน่งพระสันตะปาปาอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ทุกคนยิ่งประทับใจและยกย่องท่านมากขึ้นไปอีก ที่สุดแล้ว ท่านก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ใหม่

แต่กับ “คอนเคลฟ 2013” งานนี้ ไม่มีมิสซาปลงศพพระสันตะปาปา ทำให้ไม่มีช่วงเวลาแห่งการแสดงความคิดและแบ่งปัน ซึ่งเท่ากับว่า ไม่มีเวทีให้พระคาร์ดินัลคนใดคนหนึ่งเป็นจุดสนใจของคนทั้งโลกก่อนเริ่มการเลือกตั้งเลย

2) ครั้งนี้ ไม่มี "คนที่เด่นมากๆ" ปรากฏออกมา

ในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งที่แล้ว ชื่อของ “พระคาร์ดินัล โยเซฟ รัตซิงเกอร์” ได้รับการกล่าวถึงและยกย่องจากสื่อทุกสำนัก ไม่เฉพาะสื่อคาทอลิกเท่านั้น พูดง่ายคือเป็น “ตัวเต็งหมายเลข 1” เหนือทุกคน

แต่กับครั้งนี้ ในสายตาของนักข่าวสายวาติกัน เกิดอาการ “เสียงแตก” พวกเขาไม่กล้ายกใครขึ้นมาเป็นพิเศษ เพราะแต่ละคนมีดีแบบแตกต่างกันไป นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่น่าจะทำให้คณะพระคาร์ดินัลต้องศึกษากันและกัน ทำความรู้จักกันให้มากๆ ก่อนจะลงคะแนนเลือกใครไป โดยอาศัยการนำของพระจิต

3) การสละตำแหน่งพระสันตะปาปา

วันประวัติศาสตร์ 11 กุมภาพันธ์ 2013 ที่สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ประกาศสละตำแหน่ง จะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เพิ่มความซับซ้อนขึ้นอีกและต้องใช้เวลาคิดให้ถี่ถ้วนว่าจะลงคะแนนให้ผู้ใด เพราะคณะพระคาร์ดินัลจะต้องมองใน “ระยะยาว” ว่า จะเลือกพระสันตะปาปาที่เป็นคนหนุ่มหรือจะเลือกสูงวัย

สำหรับปัจจัยนี้ พระคาร์ดินัล จอร์จ เพลล์ ประมุขอัครสังฆมณฑลซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้ออกมายอมรับว่า “เรื่องการสละตำแหน่งของพระสันตะปาปาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นกัน พระศาสนจักรคงไม่สามารถเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้บ่อยๆ”

4) เคยมีประสบการณ์มาแล้ว

ในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งที่แล้ว มีพระคาร์ดินัลเพียง 2 องค์ที่เคยผ่านการร่วมลงคะแนนเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ นั่นคือ “พระคาร์ดินัล โยเซฟ รัตซิงเกอร์” และ “พระคาร์ดินัล วิลเลียม บาอุม” (อเมริกัน) นอกจากนั้น เป็นพระคาร์ดินัล “มือใหม่” ที่กำลังจะร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาเป็นครั้งแรก

แต่กับครั้งนี้ มันต่างกันออกไป พระคาร์ดินัลกว่าครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 60 คน) เคยมีประสบการณ์ร่วมลงคะแนนในปี 2005 มาแล้ว ทำให้พวกเขารู้ว่าจะวางตัวอย่างไร

5) ระยะเวลา

ในปี 2005 ที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 สิ้นพระชนม์ (วันที่ 2 เม.ย.) ไปจนถึงวันเริ่มเลือกตั้งพระสันตะปาปา 18 เม.ย. มีระยะห่าง 16 วัน ตอนนั้น พระคาร์ดินัล “เกือบ” ทั้งโลก ไม่ได้ไปเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เพื่อกล่าวคำอำลา นอกจากนี้ เวลาแค่ 16 วันอาจสั้นไปสำหรับพระคาร์ดินัลหลายองค์ในการศึกษาว่า ใครจะเป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะได้รับความวางใจให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่

แต่กับปี 2013 พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ประกาศสละตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. ทำให้พระคาร์ดินัลทั่วโลก “เกือบ” ทุกองค์ มีเวลาจองตั๋วเครื่องบิน เพื่อมาเข้าเฝ้ากล่าวคำอำลาแด่พระสันตะปาปาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประกอบกับระยะเวลาที่รู้ล่วงหน้าแล้วว่า พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ จะสละตำแหน่ง ไปจนถึงวันเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ คณะพระคาร์ดินัลจะมี “เวลา” คิดไตร่ตรองและศึกษาประวัติกันมากขึ้น ไม่เหมือนครั้งที่แล้วที่แทบจะไม่รู้จักกันมาก่อน ก็ต้องเลือกลงคะแนนแล้ว

6) คดีอื้อฉาวต่างๆนาๆ

นักข่าวสายวาติกันหลายคน เชื่อกันว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พระสันตะปาปาเบเนดิกต์สละตำแหน่ง นอกเหนือจากสุขภาพ น่าจะเกิดจากคดีอื้อฉาวมากมายในพระศาสนจักร อาทิ สงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ, การคอร์รัปชั่นในวาติกัน, การไม่นบนอบของพระสงฆ์ รวมถึงคดีวาติลีกส์

ปัญหาเหล่านี้ เรียกร้องให้พระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่ไม่มีประวัติเสีย ได้เข้ามาแก้ไขจัดการอย่างเด็ดขาด จึงพอสรุปได้ว่า พระสันตะปาปาองค์ใหม่ “ควรจะ” ต้องมีทักษะในการจัดการความขัดแย้งและแก้ไขปัญาคอร์รัปชั่นได้ด้วย สิ่งนี้ จะต่างจากยุคก่อนๆที่พระสันตะปาปาต้องเป็นผู้นำจิตวิญญาณอย่างเดียว ซึ่งมันไม่น่าจะพอแล้วในโลกยุคปัจจุบัน

7) พระคาร์ดินัลระดับหัวหน้า “ไม่เด่น” เหมือนครั้งก่อนๆ

ตำแหน่ง “หัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล” (Dean of the College of Cardinals) และ “คาร์มาร์เลนโก้” (Carmalengo– ผู้ปฏิบัติราชการแทนพระสันตะปาปา เมื่อตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลง) เป็นสองตำแหน่งที่ใหญ่สุดในช่วงไม่มีพระสันตะปาปา ในอดีต ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ในช่วงไม่มีพระสันตะปาปา เคยได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่กันหลายคน อาทิ พระคาร์ดินัล โยเซฟ รัตซิงเกอร์ (สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์) ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล เป็นต้น

แต่กับสถานการณ์ปัจจุบัน “หัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล” ก็คือ พระคาร์ดินัล อันเจโล่ โซดาโน่ อายุ 85 ปี ก็จะหมดสิทธิ์ร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ประกอบกับมี “ความทรงจำเลวร้าย” ติดตัว นั่นคือ เคยออกมาปกป้อง “คุณพ่อมาร์กเซียล มาเซียล” ผู้ก่อตั้งกลุ่มทหารของพระคริสตเจ้า (The Legionaries of Christ) ว่าไม่เคยล่วงละเมิดทางเพศเด็ก พร้อมโจมตีคนที่หาว่าคุณพ่อมาเซียลเป็นพวกล่วงละเมิดทางเพศด้วยว่า “จ้องทำลาย” แต่เมื่อความจริงจากการสอบสวนปรากฏออกมาว่า คุณพ่อมาเซียล ได้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กมาหลายครั้ง และมีพฤติกรรมทางเพศแปลกๆมากมาย พระคาร์ดินัลโซดาโน่กลับทำเงียบๆไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่จึงเป็นความทรงจำเลวร้ายที่ติดตัวพระคาร์ดินัลองค์นี้ไปตลอด (ทำให้ท่านไม่กล้าพูดถึงเรื่องสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศอีกเลย นับตั้งแต่นั้นมา)

ส่วน พระคาร์ดินัล ตาร์ชิซิโอ แบร์โตเน่ คาร์มาเลนโก้คนปัจจุบัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง “ประวัติเสีย” เยอะมาก คดีวาติลีกส์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพราะพระคาร์ดินัลแบร์โตเน่ ผู้เป็นศูนย์กลางแห่งความขัดแย้งทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชั่นเงิน, เล่นพวกพ้อง รวมถึง ฮั้วประมูลการก่อสร้างในวาติกัน นอกจากนี้ พระคาร์ดินัลหลายองค์ อาทิ พระคาร์ดินัลโยอาคิม ไมส์เนอร์ ประมุขอัครสังฆมณฑลโคโลญจน์ เยอรมนี เคยส่งจดหมายถึงพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ เพื่อขอให้พิจารณา “ถอดถอน” พระคาร์ดินัลแบร์โตเน่ออกจากตำแหน่งเลขาธิการนครรัฐวาติกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไร้ความสามารถในด้านงานการทูต และไม่โปร่งใส”

สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ตำแหน่ง “หัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล” และ “คาร์มาเลนโก้” ประจำปี 2013 ไม่ค่อยเด่นเท่าไหร่นัก

8) ต้องมีคะแนน 2 ใน 3

ในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ในปี 2005 ที่เราใช้เวลากันแค่ 2 วันนั้น มันเกิดจากกฏที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ออกไว้ในปี 1996 ว่า “ให้ใช้เสียงข้างมากที่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์” ได้เลย โดยไม่ต้องรอถึง “การลงคะแนนรอบที่ 37” ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม (พระคาร์ดินัลรัตซิงเกอร์ ได้คะแนนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ในวันที่สองนั่นเอง)

แต่กับปี 2013 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ทรงประกาศตั้งแต่ปี 2007 ว่า ให้กลับไปใช้กฏเดิม นั่นคือ “พระสันตะปาปาองค์ใหม่ ต้องได้รับคะแนน 2 ใน 3 แต่ถ้าถึงการลงคะแนนรอบที่ 37 แล้ว ยังไม่มีผู้ที่ได้ 2 ใน 3 ก็สามารถใช้เสียงข้างมากที่เกินกึ่งหนึ่งได้”

กฏนี้แหละจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้เวลานาน เพราะยังไม่มีใครเด่นขึ้นมานั่นเอง

9) การเข้าเงียบประจำปีในสันตะสำนัก

หลังจากวันที่ 11 ก.พ. 2013 ที่สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ประกาศสละตำแหน่ง สันตะสำนักได้มีการเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจประจำปีในเทศกาลมหาพรต ผู้เทศน์ในการเข้าเงียบนี้คือ “พระคาร์ดินัล จานฟรังโก้ ราวาซี่” ประธานสมณสภาเพื่อวัฒนธรรม

สายข่าวในวาติกันรายงานว่า พระสันตะปาปาและพระคาร์ดินัลในสันตะสำนักจำนวนมาก ประทับใจกับการแบ่งปันและแนวคิดของพระคาร์ดินัลชาวอิตาเลี่ยนองค์นี้มากๆ พระสันตะปาปาทรงกล่าวชมพระคาร์ดินัลราวาซี่ด้วยว่า “สุดยอดสมกับเป็นอาจารย์ด้านพระคัมภีร์อย่างแท้จริง ที่แบ่งปันได้ลึกซึ้งขนาดนี้”

แม้การคอนเคลฟครั้งนี้ จะไม่มีมิสซาปลงศพพระสันตะปาปา แต่ก็มี “การเข้าเงียบประจำปี” ซึ่งเป็นเวทีให้พระคาร์ดินัลราวาซี่ได้แสดงแนวคิดและการแบ่งปันต่อพระคาร์ดินัลในโรมันคูเรีย ประกอบกับ พระคาร์ดินัลราวาซี่ “ไม่มีประวัติด่างพร้อย” จากคดีวาติลีกส์แม้แต่น้อย แต่กลับมี “ประวัติดีเด่น” ในด้านการผสานวัฒนธรรมของคนมีศาสนากับไม่มีศาสนาให้มาคุยกัน ยิ่งทำให้ท่านถูกจับตามองจากพระคาร์ดินัลในโรมันคูเรียมากขึ้นนั่นเอง

10) “โซเชี่ยลมีเดีย” และ “พลังนักข่าวดิจิตอล”

นี่เป็นคอนเคลฟครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะถูกรายงานด้วยสื่อดิจิตอล (เฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์, ยูทูบ) ซึ่งจะให้ทำให้ข่าวแพร่ไปอย่างรวดเร็วสุดๆ

ขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักข่าวโลกดิจิตอลมีส่วนสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในยุคนี้ คำว่านักข่าวในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง “นักข่าวมืออาชีพ” อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “ทุกคนที่ใช้โซเชี่ยลมีเดีย” คนเหล่านี้จะมีส่วนในการรายงานข่าวได้ทุกคน พวกเขามีสิทธิ์ที่จะรายงาน จะชี้นำ หรือโน้มน้าวใจ แต่สำคัญสุดต้องอยู่ในความพอดีและต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่รายงานหรือโพสต์ออกไป

ดังนั้น การคอนเคลฟครั้งนี้ จะมีข่าวสารข้อมูลถูกรายงานออกมาแบบ “ทะลัก” และเราต้องตั้งสติรับข่าวสารด้วยความรอบคอบจริงๆ


AVE  MARIA


Comments