เรากำลังจะได้ยินคำว่า “เราได้พระสันตะปาปาแล้ว!!”…อีกครั้ง

“Habemus Papam!!” Soon to be heard! 

เรากำลังจะได้ยินคำว่า “เราได้พระสันตะปาปาแล้ว!!”…อีกครั้ง

กระทันหัน แต่ไม่น่าแปลกใจ


จากที่มีข่าวแพร่ไปทั้งทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ซึ่งได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากวาติกันแล้วว่าสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ได้ทรงประกาศการลาออกจากตำแหน่งพระสันตะปาปาซึ่งจะมีผลในเวลา 20.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นของอิตาลี) ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่จะถึงนี้นี้ การประกาศลาออกเกิดขึ้นในการประชุมกับบรรดาพระสังฆราชตามปกติ ไม่มีการนัดเป็นกรณีพิเศษหรือเรียกพบเป็นการเฉพาะแต่ประการใด

Sede Vacante (ช่วงว่างของตำแหน่งพระสันตะปาปา)


การลาออกของพระองค์ส่งผลหลายประการต่อพระศาสนจักรคาทอลิก เพราะนอกจากจะเป็นการลาออกของสมเด็จพระสันตะปาปาที่มิได้เกิดขึ้นในพระศาสนจักรมากว่าครึ่งสหัสวรรษแล้ว การลาออกยังมีผลให้เกิดกรณีหรือการปฏิบัติใหม่ๆ อีกหลายประการไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นการเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้พ้นช่วงการไว้ทุกข์เก้าวันให้กับพระสันตะปาปาองค์ก่อนตามประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา การที่บรรดา “เจ้าชายแห่งพระศาสนจักร” (พระคาร์ดินัล) ได้มีเวลาทราบและ “เตรียมตัว” ล่วงหน้าก่อนถึงเวลาที่ประชุมเพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ (Papal Conclave) อย่างน้อยเกือบ 20 วัน หรือการที่คริสตชน (อาจ) จะมี “พระสันตะปาปากิตติคุณ” หรือ Pope Emeritus เกิดขึ้นในพระศาสนจักร เป็นต้น (คำว่า “กิตติคุณ” เป็นคำที่เติมต่อท้ายตำแหน่งที่บุคคลนั้นเคยดำรงอยู่ แปลว่า “เหมาะสมกับเกียรติยศเพราะได้ปฏิบัติงานมายาวนานและดีเด่น” เช่นอธิการบดีกิตติคุณของมหาวิทยาลัย)

สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาเมื่อมีพระชนมายุได้ 78 พรรษาซึ่งเป็นพระคาร์ดินัลที่อายุมากที่สุดในรอบเกือบสามร้อยปีที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา (เป็นพระคาร์ดินัลที่อายุมากที่สุดเป็นลำดับที่ห้านับตั้งแต่พระเยซูเจ้าทรงตั้งนักบุญเปโตรเป็น พระสันตะปาปาองค์แรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา) หลายคนจึงดูไม่แปลกใจกับเหตุผลที่ทรงใช้ในการลาออกของพระองค์ที่ว่า “หลังจากข้าพเจ้าได้ตรวจสอบมโนธรรมครั้งแล้วครั้งเล่าต่อพระพักตร์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าจึงมั่นใจว่าความแข็งแรงของข้าพเจ้าด้วยเหตุที่มีอายุมากขึ้นทำให้ข้าพเจ้าไม่เหมาะสม (กับตำแหน่งนี้—ผู้เขียน) อีกต่อไป” ประกอบกับข้อความที่พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “Light of the World” (แสงสว่างส่องโลก) ที่ว่า “ถ้าพระสันตะปาปาทราบอย่างแน่ชัดว่าตนเองไม่มีความสามารถทางด้านกายภาพ ทางด้านจิตใจ หรือด้านมโนธรรมที่จะทำหน้าที่ในตำแหน่งพระสันตะปาปาได้ เขาย่อมมีสิทธิลาออกจากตำแหน่ง หรือในบางกรณีเป็นหน้าที่ที่จะต้องลาออก”

ในอดีตที่ผ่านมา พระศาสนจักรเคยมีพระสันตะปาปาที่ลาออกจากตำแหน่งเพราะเหตุผลที่หลากหลาย เช่นเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง เพื่อขายตำแหน่ง หรือมีแรงกดดันให้ลาออกเพราะใช้เงินซื้อตำแหน่งพระสันตะปาปามา (ดูรายละเอียดใน http://www.popereport.com/2012/03/25-2012.html) แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พระสันตะปาปาลาออกด้วยเหตุผลด้านความแข็งแรงและความปรารถนาที่จะถือพรตอย่างสันโดษต่อไปในอารามที่ทรงเลือก คำถามจึงมีอยู่ว่า

พระสันตะปาปาจะทรงลาออกได้หรือไม่?

ถ้าจะตอบด้วยเหตุผลแบบกำปั้นทุบดินก็อาจตอบได้ว่า แน่นอนว่าพระองค์สามารถลาออกได้ เพราะได้ทรงทำไปแล้ว แต่ถ้าจะตอบแบบมีหลักการสนันบสนุนก็จำเป็นต้องอ้าง “ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร” (ต่อไปในบทความนี้จะเรียกว่า “ปพศ.”) ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ให้อำนาจและกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ในพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลกในลักษณะเดียวกันกับที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ให้อำนาจและกำหนดสิทธิหน้าที่ต่างๆ ตลอดจนการวางโครงสร้างขององค์กรต่างๆ ของรัฐในแต่ละประเทศ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ฐานันดร หรือ สมณศักดิ์ ที่ฆารวาสชายอาจเป็นได้จากการรับศีลบรรพชา (หรือศีลบวช) ในพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกมีอยู่ 3 ประเภทหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ สังฆานุกร (Deacon) พระสงฆ์ (Priest) และพระสังฆราช (Bishop) ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ในพระศาสนจักรที่เราท่านคุ้นหูกัน ได้แก่ พระอัครสังฆราช (Archbishop) พระคาร์ดินัล (Cardinal) หรือแม้แต่พระสันตะปาปา (Pope, Bishop of Rome, Supreme Pontiff) เป็นการเรียกตำแหน่งที่เกิดจากการใช้อำนาจบริหารหรือการแบ่งการปกครองในท้องที่ต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในประเทศหนึ่งมีบรรดาพระสังฆราชที่มีฐานะเป็นประมุขปกครองและอภิบาลสั่งสอนในแต่ละเขตสังฆมลฑล (ปพศ. มาตรา 381 วรรค 1) เมื่อมีจำนวนสังฆมลฑลมากขึ้นก็สามารถที่จะแบ่งเขตการปกครองในประเทศนั้นออกเป็น “ภาค” โดยในแต่ละภาค จะมีสังฆมลฑลที่เป็นสังฆมลฑลเขตปกครองหลัก (อัครสังฆมลฑล) และสังฆมลฑลในสังกัด

ดังนั้นพระสังฆราชที่ได้ไปปกครอง “อัครสังฆมลฑล” ก็จะมีชื่อตำแหน่งเรียกขานว่า “พระอัครสังฆราช” ตามอัครสังฆมลฑลที่ตนได้ปกครองอยู่ด้วยโดยอัตโนมัติ หรือกรณีที่พระสังฆราชที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์สมเด็จพระสันตะปาปาให้เป็น “พระคาร์ดินัล” ซี่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือ และจัดการเลือกตั้งพระสันตะปาปา (ปพศ. มาตรา 349) และยังได้รับการแต่งตั้งให้ปกครองวัดในเขตสังฆมลฑลกรุงโรมก็คือการที่พระสังฆราชมีหน้าที่เฉพาะตามที่พระสันตะปาปาทรงมอบหมายให้เป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น จะเห็นว่า “พระอัครสังฆราช” หรือ “พระคาร์ดินัล” ก็ยังคงมีฐานันดรพระสังฆราช (Episcopal Character) ซึ่งเป็นฐานันดรสูงสุดในพระศาสนจักรอยู่นั่นเอง

โดยนัยยะเดียวกัน ผู้ที่มีฐานันดรพระสังฆราช และได้รับเลือกเป็น “สังฆราชแห่งพระศาสนจักรกรุงโรม” (Bishop of the Church of Rome, Roman Pontiff) จึงมีหน้าที่และอำนาจซึ่งสืบทอดต่อมาจากนักบุญเปโตร มีสถานะพิเศษตามกฎหมายพระศาสนจักรเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา เป็นหัวหน้าคณะพระสังฆราชทั้งปวง (Head of the College of Bishops) เป็นผู้แทนองค์พระคริสตเจ้า (Vicar of Christ) และเป็นชุมพาบาลของพระศาสนจักรสากลบนโลกนี้ (ปพศ. มาตรา 331) อำนาจและสถานะดังกล่าวย่อมได้รับได้มาทันทีเพราะเหตุที่ตัวพระสังฆราชที่ได้รับเลือกนั้น “ยอมรับ” ผลการเลือกตั้งโดยชอบของที่ประชุมเพื่อเลือกพระสันตะปาปา (Papal Conclave) ถ้าผู้ที่ได้รับเลือกยังไม่ได้สมณศักดิ์เป็นพระสังฆราช ก็ต้องมีการบรรพชาให้ผู้ที่ได้รับเลือนั้นเป็นพระสังฆราชทันที (ปพศ. มาตรา 332 วรรค 1)

การยอมรับตำแหน่งพระพระสันตะปาปาเช่นว่านี้ ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายพระศาสนจักรหรือกฎหมายใดๆ บังคับไว้ว่าเมื่อได้ยอมรับแล้วจะยกเลิกเพิกถอนการยอมรับไม่ได้ หรือจะต้องเป็นไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่แต่อย่างใด ตรงกันข้าม ปพศ. มาตรา 332 วรรค 2 ได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าพระสันตะปาปาได้แสดงเจตนาที่จะลาออกจากตำแหน่งโดยอิสระและแจ้งชัด (Freely and duly manifested) ย่อมสามารถกระทำได้ด้วยพระองค์เองโดยไม่ต้องมีผู้รับเจตนานั้นแต่อย่างใด ดังนั้นทั้งในทางกฎหมาย และมโนธรรมพระสันตะปาปาย่อมจะทรงลาออกจากตำแหน่งได้อย่างแน่นอน

ข้อสังเกตบางประการ

สื่อในประเทศไทยบางสำนักต้องการเขียนข่าวโดยใช้ภาษาที่ดึงดูดความสนใจหรือโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็แล้วแต่โดยใช้คำว่า “สละสมณศักดิ์” ซึ่งไม่ถูกต้อง การสูญเสียสภาพสมณะในพระศาสนจักรคาทอลิกจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยคำตัดสินของศาลพระศาสนจักร กฤษฎีกาของฝ่ายบริหารหรือพระราชกำหนดของสันตะสำนักเท่านั้น ดังนั้นแม้สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 จะทรงลาออกจากตำแหน่งพระสันตปาปา (พระสังฆราชแห่งกรุงโรม) พระองค์ก็ยังคงดำรงสมณศักดิ์พระสังฆราชอยู่ตามเดิม

เหตุที่พระศาสนจักรสากลใหเกียรติพระศาสนจักรกรุงโรม (สังฆมลฑลกรุงโรม) เป็นพิเศษ นอกจากสาเหตุที่กรุงโรมเป็นสถานที่ตั้งของสุสานของนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลแล้วและยังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล เป็นบ่อเกิด เป็นที่รวบรวมประวัติศาสต์ชีวิตศักดิ์สิทธิ์ และธรรมประเพณีแห่งบรรดาอัครสาวก (Apostolic Tradition) พระศาสนจักรสากลทั่วโลกมีพันธะที่จะต้องสั่งสอนและสืบสานธรรมประเพณีดังกล่าวโดยมีพระศาสนจักรกรุงโรมเป็นศูนย์กลางและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคริสตศาสนิกชน

สิ่งที่แน่นอนอย่างแรกภายหลังการลาออกสมเด็จพระสันตะปาปาก็คือพระคาร์ดินัลที่มีสิทธิ์เลือกสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ซึ่งมีจำนวนประมาณ 117 องค์ จะกำหนดวันเริ่มต้นการประชุมลับเพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ (จำนวนที่แน่นอนขึ้นอยู่กับวันที่จะเริ่มการประชุม เพราะจะมีพระคาร์ดินัลจำนวนหนึ่งที่มีอายุครบ 80 ปีและจะทำให้ไม่มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวและไม่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นพระพระสันตะปาปาอีกด้วย) อดีตสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ย่อมไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมและไม่มีสิทธิได้รับเลือกกลับมาเป็นพระพระสันตะปาปาอีกครั้งเพราะทรงมีพระชนมายุ 85 พรรษาแล้ว

อย่างไรก็ดี คำเรียกบรรดาพระสังฆราชว่าเป็น “ผู้แทนขององค์พระคริสตเจ้าบนโลกนี้” (Vicar of Christ on Earth) ยังคงใช้ได้กับอดีตสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 เพราะยังคงสมณศักดิ์พระสังฆราชอยู่ ส่วนคำเรียกและบทบาทหน้าที่ที่ทรงเป็น “ผู้แทนของนักบุญเปโตร” (Vicar of Peter) นั้น คงสงวนไว้เฉพาะสมเด็จพระสันตะปาปาที่ดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น

อำนาจที่หน้าสนใจอีกประการหนึ่งขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาในฐานะผู้นำพระศาสนจักรสากลคือ “ความมิรู้ผิดพลั้ง” (Infallibility) ซึ่งในความหมายอย่างกว้างหมายถึง องค์สมเด็จพระสันตะปาปาจะทรงปราศจากความผิดพลาด ผิดหลงทั้งปวงในการประกาศข้อความจริงหรือหลักคำสอนข้อใดข้อหนึ่งอย่างเป็นทางการ ข้อความจริงหรือหลักคำสอนนั้นจะผูกพันพระศาสนจักรทั่วโลกในฐานะข้อความเชื่อของพระศาสนจักร หลักเรื่องความมิรู้ผิดพลั้งนี้เป็นธรรมนูญความเชื่อของพระศาสนจักรที่ประกาศมาตั้งแต่การสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 และยังคงสงวนไว้เฉพาะสมเด็จพระสันตะปาปาที่ดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้นเช่นเดียวกันกับอำนาจอื่นๆในตำแหน่งของนักบุญเปโตร (Petrine Office)

การออกพระนามภายหลังการลาออกจากตำแหน่งพระสันตะปาปา


“คุณหมอ ทั้งท่านและข้าพเจ้ามีเพียงทางเลือกเดียว คุณหมอต้องรักษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจำเป็นต้องหายดี เพราะพระศาสนจักรไม่มีที่สำหรับพระสันตะปาปากิตติคุณ” สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงตรัสกับศัลยแพทย์ จานฟรังโก้ ฟิเนสคี่ ก่อนจะทรงเข้ารับการผ่าตัดกระดูกขาและสะโพกในปี 1994
ถ้าตีความโดยเคร่งครัด เราอาจไม่ได้เรียกอดีตสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ว่า พระสันตะปาปากิตติคุณ อย่างไรก็ดี ข้อความนี้น่าจะเป็นการสัพยอกพูดคุยระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 กับศัลยแพทย์ของพระองค์มากกว่าจะเป็นคำสั่ง แต่แน่นอนว่า อดีตสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ยังคงมีฐานันดรพระสังฆราช ยังเป็นสมาชิกคณะพระสังฆราช (College of Bishops) และ—น่าจะยังคง—เป็นพระคาร์ดินัล คณะพระคาร์ดินัล (College of Cardinals) น่าจะได้ประกาศหรือเป็นผู้นำในการใช้คำเรียกอดีตสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ที่เหมาะสมได้ภายหลังการลาออกได้มีผลอย่างเป็นทางการแล้ว

ข้อสังเกตุประการสุดท้ายคือ ในปี 2007 สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ได้ออกพระราชกฤษฎีกา (moto proprio) ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2007 กำหนดจำนวนเสียงข้างมากเด็ดขาด (Supermajority) ในการประชุมเพื่อเลือกพระสันตะปาปาว่าต้องผู้ได้รับเลือกต้องได้รับคะแนนเสียง “เกินสองในสาม” ของคณะพระคาร์ดินัลทั้งหมดที่มีสิทธิลงคะแนนเลือก มิใช่เพียงได้เสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple Majority) เกินกึ่งหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการที่คณะพระคาร์ดินัลในที่ประชุมจะลงคะแนนเพื่อรอให้ ‘ตัวเก็ง’ ที่ได้คะแนนเสียงข้างมากแบบไม่เด็ดขาดหรือเพียงแต่ได้เสียงมากกว่าพระคาร์ดินัลองค์อื่นเพียงเล็กน้อยได้รับเลือกโดยง่าย



อาทิตย์ ปิ่นปัก  (ARTIT PINPAK)

Comments